Health & Beauty

Beauty Bargains for You

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กระทุ่มน้ำ ดอกหอมมีสรรพคุณ

กระทุ่มนา (กระทุ่มน้ำ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mitragyna diversifolia (Wall.ex G.Don) Havil.
ชื่อวงศ์ : Rubiaceae
ชื่อพื้นเมือง : กระทุ่มนา, กระทุ่มน้ำ (กลาง); กระทุ่มดง (กาญจนบุรี); ตุ้มน้อย, ตุ้มแซะ, ตุ้มน้ำ(เหนือ); ถ่มนาย (เลย); ท่อมขี้หมู (สงขลา); ท่อมนา (สุราษฎร์ธานี); โทมน้อย (เพชรบูรณ์); กาตูม (เขมร - ปราจีนบุรี)

กระทุ่มน้ำ ดอกหอมมีสรรพคุณ

กระทุ่มน้ำ ดอกหอมมีสรรพคุณ
ลักษณะ :
ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 8-15 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งต่ำ

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีที่ค่อนข้างกว้างเกือบกลม กว้าง 3-7 ซม. ยาว 5-12 ซม. ปลายมน โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายหรือเกลี้ยง ก้านใบยาว 0.6-1.3 ซม. หูใบระหว่างก้านใบ 1 คู่ รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ยาว 0.5-1.3 ซม. ปรากฎชัดตามปลายกิ่ง

ดอก แบบช่อกระจุกแน่น จำนวนมาก ออกตามปลายกิ่ง มีใบประดับขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายใบแซมห่างๆ บริเวณส่วนล่างของช่อ แต่ละช่อเมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. แต่ละช่อมีดอกขนาดเล็ก ไม่มีก้านดอก กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงเล็กมาก ติดกันคล้ายรูปถ้วย ขอบตัด กลีบดอกสีนวล ติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีก้านเกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก

ผล  เป็นรูปไข่ มีขนาดเล็ก ผิวแข็งอัดรวมกันเป็นก้อนกลม ผลแห้งแตก  เมล็ดมีปีก

สรรพคุณ :
ใบแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด
เปลือกต้น รสฝาดร้อน  รักษาโรคผิวหนัง แก้มะเร็ง คุดทะราด แก้บิดมูกเลือด

ยาแผนโบราณของไทยใช้ใบกระทุ่มนาแทนใบกระท่อมสำหรับบำบัดโรคท้องร่วงเมื่อขาดแคลนใบกระท่อม ใบกระทุ่มนามีแอลคาลอยด์ประเภท heteroyohimbine และ oxindole หลายชนิดด้วยกัน ได้มีการนำ mitraphylline ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์ประเภท oxindole ไปทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าแอลคาลอยด์ชนิดนี้มีสรรพคุณลดความดันโลหิตและออกฤทธิ์กดต่อกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง

คนไทยรู้จักกระทุ่มกันดีมาตั้งแต่โบราณกาล เพราะเป็นไม้ท้องถิ่นดั้งเดิมของไทยชนิดหนึ่ง พบอยู่ทุกภาคของไทย ปรากฏชื่ออยู่ในวรรณคดี ไทยหลายเรื่อง ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ กล่าวถึงกระทุ่มไว้ว่า "กระทุ่ม : ต้นไม้อีกอย่างหนึ่ง ใบเล็ก ดอกคล้ายดอกตะกู กลิ่นหอม ขึ้นอยู่ชายป่า นอก จากนั้นยังกล่าวถึงต้นไม้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน ไม่เรียกชื่อนี้แล้วคือ กระทั่ม : ต้นไม้อย่างหนึ่ง ดอกใบคล้ายกับกระทุ่มขึ้นอยู่กลางทุ่ง"
สันนิษฐานว่า กระทุ่มในหนังสืออักขรา-ภิธานศรับท์คงหมายถึงต้นกระทุ่มที่คนกรุงเทพฯ เรียกว่า กระทุ่มบก ชนิด Anthocephalus chinensis Rich. ex Walp ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน
ส่วนกระทั่ม คงเป็นต้นกระทุ่มที่คนกรุงเทพฯ เรียกว่ากระทุ่มน้ำ หรือกระทุ่มนา ในบทเสภาขุนช้างขุนแผน นั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

  1. ที่บุรีรัมย์ เรียก ดอกก้านเหลือง (ดอกประจำหมู่บ้าน ก้านเหลือง ต.ชุมแสง อ.กระสัง)

    ตอบลบ