Health & Beauty

Beauty Bargains for You

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กระท้อนทองกำมะหยี่ กระท้อนโบราณพันธุ์ดี

กระท้อนทองกำมะหยี่ กระท้อนโบราณพันธุ์ดี

"กระท้อน" ผลไม้ตามฤดูกาลอีกชนิดที่ได้รับความนิยมมาแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว กระท้อนมีมากมายนับร้อยสายพันธุ์เลยทีเดียว มีชื่อเรียกขานตามท้องถิ่นบ้าง ตามชื่อเจ้าของพันธุ์บ้าง และตามรูปลักษณ์ของกระท้อนเองบ้าง สาเหตุที่กระท้อนมีสายพันธุ์มากมายก็เพราะกลายพันธุ์มาจากเมล็ดนั่นเอง สมัยโบราณนิยมนำเมล็ดกระท้อนมาเพาะต้นพันธุ์กัน สวนที่ปลูกกระท้อนกันมากอยู่ในย่านบางขุนนนท์ ตลิ่งชัน

ต่อมากระท้อนแพร่ขยายพันธุ์ออกไปตามสวนต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรีกลายเป็นแหล่งรองรับสายพันธุ์กระท้อนต่อจากสวนย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งถึงการล่มสลายในเวลาต่อมา เมื่อความเจริญมีตึกรามบ้านช่องเข้าไปทดแทนพื้นที่สวนจนหมดสิ้น

จังหวัดนนทบุรี ได้รับการยอมรับว่า เป็นแหล่งกระท้อนพันธุ์ดี สวนย่านตำบลบางกร่าง ดูจะมีชื่อเสียงมาก แต่ปัจจุบันสวนกระท้อนพันธุ์ดีก็ค่อยๆ หดหายลงไปทุกขณะ เฉกเช่นสวนย่านฝั่งธนบุรี ที่หมู่บ้านจัดสรรและความเจริญลุกลามเข้าไป จนกระท้อนหลายๆ สายพันธุ์สูญหายไป ทุกวันนี้มีกระท้อนที่ผู้คนทั่วไปรู้จักไม่กี่สายพันธุ์ ที่โดดเด่น ใครๆ ก็รู้จัก มี กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย พันธุ์อีล่า และพันธุ์ทับทิม นอกนั้นเป็นพันธุ์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

กระท้อนพันธุ์ทองกำมะหยี่ เป็นกระท้อนพันธุ์ดั้งเดิม มีมาแต่ครั้งโบราณอีกพันธุ์หนึ่ง ปัจจุบันเริ่มมีการปลูกขายเป็นธุรกิจกันแล้ว ทั้งนี้ ก็เนื่องจากเนื้อกระท้อนมีรสชาติอร่อย เนื้อนิ่มหวานตามแบบฉบับของกระท้อน เนื้อหนา ใช้ช้อนตักรับประทานได้ติดเปลือกเลยทีเดียว เปลือกบาง เมล็ดไม่ใหญ่ เนื้อปุยสีขาวหวานนุ่ม ทรงผลกลมแป้นขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ เป็นกระท้อนพันธุ์ดีอีกพันธุ์หนึ่งที่ใครๆ รับประทานแล้วเป็นต้องติดใจ

กระท้อนทองกำมะหยี่ มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ผลจะมีขนอ่อนนุ่ม จับดูจะนุ่มมือคล้ายปุยของผ้ากำมะหยี่ สีผลออกสีเหลืองทอง จึงเรียกขานชื่อสายพันธุ์ว่า "ทองกำมะหยี่" เป็นกระท้อนที่น่าปลูกมาก เพราะปัจจุบันตลาดคู่แข่งของกระท้อนสายพันธุ์นี้ยังมีน้อย แต่กับกระท้อนสายพันธุ์อีล่า หรือปุยฝ้าย เมื่อเทียบกันแล้ว กระท้อนทองกำมะหยี่จะได้เปรียบตรงที่เป็นพันธุ์เบา ติดผลเก็บขายได้ก่อนกระท้อน 2 สายพันธุ์หลัก กระท้อนทองกำมะหยี่จะออกพร้อมๆ กับพันธุ์ทับทิม แต่ทรงผลกระท้อนพันธุ์ทับทิมจะเล็กกว่าทองกำมะหยี่มาก

กระท้อนทองกำมะหยี่สายพันธุ์นี้ เดิมทีอยู่ละแวกจังหวัดนนทบุรี ต่อมาเกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ปลูกในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะเห็นว่าไม่ค่อยมีใครรู้จักกัน ประกอบกับกระท้อนทองกำมะหยี่ค่อนข้างมีปัญหากับเรื่องของผลแตกเมื่อยามโดนฝน เกษตรกรส่วนใหญ่จึงปลูกกันแต่กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย และพันธุ์อีล่า

คุณมะลิวัลย์ ปัญจะมูล เกษตรกรหญิงคนเก่ง แห่งบ้านเลขที่ 62 ตำบลบ้านพระ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี มองเห็นความโดดเด่นและอนาคตของกระท้อนพันธุ์กำมะหยี่ โดย คุณเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล ผู้เป็นน้องชาย ปัจจุบันทำงานรับราชการเป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเลย ได้นำกระท้อนสายพันธุ์นี้มาปลูกที่สวนของพี่สาว เมื่อ 5 ปีก่อน

ในพื้นที่สวนกว่า 60 ไร่ คุณมะลิวัลย์ บอกว่า ปลูกไม้ผลผสมผสานกัน มีปลูกกระท้อนประมาณ 200 กว่าต้น แบ่งเป็นสายพันธุ์ทองกำมะหยี่ประมาณ 100 ต้น นอกนั้นเป็นพันธุ์อีล่า และปุยฝ้าย มังคุดมีปลูกอยู่ 30 กว่าต้น ลองกอง 40 กว่าต้น และไม้ผลอื่นๆ รวมผสมผสานกันอยู่ในแปลงเดียวกันตามแบบฉบับของสวนย่านจังหวัดปราจีนบุรี ที่มักจะปลูกไม้ผลผสมผสานกัน

การปลูกกระท้อนทองกำมะหยี่นั้น คุณมะลิวัลย์ บอกว่า ไม่ยากเลยปลูกเหมือนกับปลูกไม้ผลทั่วๆ ไป พอหาที่ปลูกเหมาะๆ ได้ก็ขุดหลุมเอากิ่งพันธุ์ลงปลูกได้เลย และรองก้นหลุมปลูกหรือไม่รองก็ได้ ถ้ารองก้นหลุมปลูกก็หาปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ใส่รองพื้นก่อนจึงเอากิ่งพันธุ์ลงปลูก กลบดินโคนต้นให้แน่น รดน้ำชุ่มเป็นใช้ได้

กระท้อนทองกำมะหยี่ ลักษณะพันธุ์ คุณมะลิวัลย์ แนะนำว่า ให้ลูบใต้ท้องใบจะมีขนปุยนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ส่วนรูปทรงใบจะคล้ายกับใบกระท้อนทั่วๆ ไป กระท้อนพันธุ์นี้ทรงต้นค่อนข้างสูง ระยะปลูกควรปลูกห่าง 6x6 หรือ 8x8 เมตร หมั่นตัดยอดไม่ให้พุ่งขึ้นสูง จะทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำบาก ควรให้ต้นแตกทรงออกข้างจะดีกว่า

หลังปลูกไม่ยุ่งยากอะไรเลย คุณมะลิวัลย์ บอกว่า เราปลูกผสมผสานในสวนไม้ใหญ่อยู่แล้ว รดน้ำต้นไม้ในสวน อานิสงส์ก็จะได้กับไม้ทุกต้นที่ปลูกรวมๆ กัน การใส่ปุ๋ยก็เช่นกันใส่ทีเดียวเหมายกแปลงไปเลย ปีหนึ่งใส่ปุ๋ยคอกสองครั้ง ช่วงต้นฝน กับปลายฝน

พอเข้าปีที่ 3 กลางปี ให้เตรียมต้นกระท้อนใส่ปุ๋ยคอกบ้าง กระท้อนจะติดผลช่วงหน้าหนาว พอเข้าหน้าหนาวต้นก็จะติดดอก ฉีดฮอร์โมนบำรุงดอก ฉีดยาป้องกันแมลง ดูแลกันดีๆ หน่อย ระบบน้ำต้องให้สม่ำเสมอ ถ้าให้ 5 วันครั้ง ก็ต้อง 5 วันครั้ง อย่าให้ขาดช่วงเป็นอันขาด เพราะจะส่งผลกระทบในยามที่ฝนตกลงมาขณะที่กระท้อนติดผลใหญ่ ถ้าให้น้ำไม่สม่ำเสมอจะทำให้ผลแตกเมื่อยามที่ได้น้ำฝนเข้าไปมากๆ

ถึงตอนดอกบานก็ปล่อยให้บานตามธรรมชาติ ตอนนี้อย่าไปยุ่งอะไร จนกระทั่งดอกติดเป็นผล ถ้าสวนไหนมีเพลี้ยไฟไรแดงมาก ก็ฉีดยาป้องกันบ้าง หรือจะเพิ่มฮอร์โมนสูตรบำรุงผลก็ได้ถ้าสตางค์มีพอ

คุณมะลิวัลย์ บอกว่า สำหรับที่สวนแล้วไม่ได้ไปยุ่งอะไรเลย ยาฉีดก็ไม่ได้ฉีด จะไปฉีดอีกทีก็ตอนก่อนห่อผล ฉีดฮอร์โมนบำรุงผล ฉีดยาป้องกันผลแตก และยาป้องกันกำจัดแมลงแล้วจึงห่อ

"ปัญหาของกระท้อนอยู่ที่ แรงงานคนห่อ หายากมาก ที่สวนต้องช่วยกันห่อผลทั้งบ้านเลย"

คุณมะลิวัลย์ กล่าวและว่า การห่อก็ใช้กระดาษห่อแล้วเย็บด้วยแม็กซ์เป็นใช้ได้ กระท้อนนับจากติดผลจนกระทั้งเก็บผลได้ ในระยะการเจริญเติบโตประมาณ 90 วัน

สำหรับราคากระท้อนทองกำมะหยี่นั้นค่อนข้างดี ผลใหญ่ เบอร์ 1 ราคาประมาณกิโลกรัมละ 80 บาท ผลขนาด เบอร์ 2 ราคา 60 บาท ผลขนาด เบอร์ 3 ราคา 40 บาท และผลเล็กคละขนาดเก็บขายราคา 4 กิโลกรัม 100 บาท เป็นกระท้อนที่เก็บผลก่อนกระท้อนสายพันธุ์อื่นๆ จึงทำให้ราคาขายดีมาก หลังเก็บกระท้อนทองกำมะหยี่หมด กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย และพันธุ์อีล่าจึงจะเก็บผลขายได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้กระท้อนพันธุ์ทองกำมะหยี่ขายได้ราคาดี

สำหรับเรื่องผลแตกเมื่อตอนโดนฝนนั้น คุณมะลิวัลย์ บอกว่า ฉีดยาป้องกันผลแตกก่อนห่อจะช่วยป้องกันได้มาก ปัจจุบันกระท้อนทองกำมะหยี่ยังมีคู่แข่งไม่มากนัก ที่จังหวัดปราจีนบุรีมีปลูกกันไม่กี่สวน แต่ละสวนเก็บผลขายเป็นเงินกันเงียบๆ เพลินกระเป๋าทุกราย พอถึงช่วงกระท้อนออกมากๆ ในท้องตลาดส่งผลให้ราคากระท้อนตกต่ำ ถึงตอนนั้นทองกำมะหยี่ก็ไม่มีให้เก็บแล้วสบายรอดตัวไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น