Health & Beauty

Beauty Bargains for You

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ขิง เหง้าขิงแห้ง ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด เจริญอากาศธาตุ

ชื่อ : ขิง  เหง้าขิงแห้ง
ชื่ออื่น : ขิงแกลง, ขิงแดง (จันทรบุรี), ขิงเผือก (เชียงใหม่), สะเอ (แม่ฮ่องสอน), ขิงบ้าน, ขิงแครง, ขิงป่า, ขิงเขา, ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง), เกีย (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ : Ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Roscoe
วงศ์ : Zingiberaceae
ขิง  เหง้าขิงแห้ง

ขิงเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ใบรูปหอกเกลี้ยงๆ กว้าง 1.5 - 2 ซม. ยาว 12 - 20 ซม. หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางนำปลายใบสอบเรียวแหลม โคนใบสองแคบและจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ตรงช่วงระหว่างกาบกับตัวใบจะหักโค้งเป็นข้อศอก ดอก สีขาว ออกรวมกันเป็นช่อรูปเห็ดหรือกระบองโบราณ แทงขึ้นมาจากเหง้า ชูก้านสูงขึ้นมา 15 - 25 ซม. ทุกๆ ดอกที่กาบสีเขียวปนแดงรูปโค้งๆ ห่อรองรับ กาบจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อน และจะขยายอ้าให้ เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 3 กลีบ อุ้มน้ำ และหลุดร่วงไว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออกเกสรผู้มี 6 อัน ผล กลม แข็ง โต วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.

สรรพคุณของขิงสดตากแห้ง กับเหง้าขิงแห้ง นั้นแตกต่างกัน
ขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า ปลูกในดินร่วนซุยผสมปุ๋ยหมัก หรือดินเหนียวปนทราย โดยยกดินเป็นร่องห่างกัน 30 ซม. ปลูกห่างกัน 20 ซม. ลึก 5 - 10 ซม. ขิงชอบขึ้นในที่ชื้นมีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังอาจโดนโรคเชื้อรา และการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจเป็นการลงทุนสูงแต่คุ้มค่าและจะได้พันธุ์ที่ปลอดเชื้อ เพราะส่วนใหญ่โรคที่พบมักติดมากับท่อนพันธุ์ขิง

คัมภีร์สรรพคุณยา เรื่องเกี่ยวกับพิกัดตรีผลา ตรีกฏุก ตรีสาร กล่าวไว้ว่า

ขิงแห้ง มีรสอันหวาน ย่อมแก้พรรดึก แก้ไข้จับ แก้นอนมิหลับ แก้ลมพานไส้ แก้ลมแน่นในทรวง แก้ลมเสียดแทงคลื่นเหียน แก้เสมหะ เจริญไฟธาตุ แก้ไอลึกในทรวงอก

ขิงสด มีรสหวาน ร้อน เผ็ด เหง้าจำเริญอากาศธาตุ ดอกแก้โรคอันบังเกิดแต่ดวงหทัย ใบแก้กำเดาให้บริบูรณ์ ต้นสกัดลมสลสู่คูถทวาร รากแก้เสียงให้เพราะ แลเจริญอาหาร มีรสเผ็ดร้อน แก้ลมในกองไฟธาตุให้กระจายเสีย แก้ลมพรรดึก แก้จุกเสียด แก้โรคในอก เจริญอาหาร แก้ไข้ 10 ประการให้สมบูรณ์

เหง้า: รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด เจริญอากาศธาตุ สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย จะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ใช้เหง้าแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ เหง้าสด ตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ
ต้น : รสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง
ใบ : รสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ
ดอก : รสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาทซึ่งทำให้ใจขุ่นมัว ช่วยย่อยอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ
ราก : รสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่น เจริญอาหาร แก้ลม แก้เสมหะ แก้บิด
ผล : รสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ
แก่น : ฝนทำยาแก้คัน

ขิงแห้ง กับขิงสด นั้นเป็นตัวยาคนละตัว อาจมีข้อโต้แย้งว่า เหง้าขิงสดตากแห้งก็กลายเป็นเหง้าขิงแห้ง ในกรณีนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า ในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ไม่มีที่ใดจะแยกสรรพคุณตัวยาสดและสรรพคุณตัวยาแห้งให้แตกต่างกัน ดังนั้นคำว่าขิงสด และขิงแห้ง จึงน่าจะเป็นสมุนไพรต่างชนิดกัน และมีข้อบ่งใช้ต่างกัน ขิงแห้ง น่าจะเป็นตัวเดียวกับ ขิงแคลง ซึ่งมีการปลูกที่ระยอง จันทบุรี และทางใต้ มีลักษณะเป็นแง่งเล็ก ไหลไปตามพื้นดินปนทราย ชอบขึ้นบนคบไม้ ลักษณะแห้งๆ คนภาคใต้จึงเรียกว่า ขิงแห้ง ภาคตะวันออกเรียกว่าขิงแคลง แต่เสียงอาจเพี้ยนเป็นขิงแห้งไป ขิงแคลงนี้ มีกลิ่นหอม รสปร่าเหมือนรสข่าใหญ่ ไม่เหมือนกลิ่นของขิงสด เนื้อในสีเหลืองอ่อนซีด ใช้ขับลมได้ดี

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ

   ในเหง้าขิงมี น้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 1 - 3 % ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกและช่วงการเก็บรักษา ในน้ำมันประกอบด้วยสารเคมี ที่สำคัญคือ ซิงจิเบอรีน (Zingiberene) , ซิงจิเบอรอล (Zingiberol) , ไบซาโบลี (bisabolene) และแคมฟีน (camphene) มีน้ำมัน (oleo - resin) ในปริมาณสูง เป็นส่วนที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุน และมีรสเผ็ด ส่วนประกอบสำคัญ ในน้ำมันซัน ได้แก่ จินเจอรอล (gingerol) , โวกาออล (shogaol) , ซิงเจอโรน (zingerine) มีคุณสมบัติเป็นยากัดบูด กันหืน ใช้ใส่ในน้ำมันหรือไขมัน เพื่อป้องกันการบูดหืน สารที่ทำให้ขิงมีคุณสมบัติเป็นยากันบูด กันหืนได้คือ สารจำพวกฟีนนอลิค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น