Health & Beauty

Beauty Bargains for You

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เมล็ดพริกไทย ใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร ย่อยพิษตกค้างที่ไม่สามารถย่อยได้ ใช้ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้มุตกิด (ระดูขาว)

ชื่อ : เมล็ดพริกไทย
ชื่ออื่น : พริกน้อย ( ภาคเหนือ )
ชื่อสามัญ :
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper nigrum Linn.
วงศ์ : PIPERACEAE
เมล็ดพริกไทย

เป็นต้นไม้ประเภทไม้เลื้อย มีความสูงประมาณ 5 เมตร ลักษณะของลำต้นเป็นข้อๆ เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ระบบรากของต้นพริกไทยจะมีเกิดบริเวณข้อตามลำต้นเป็นรากเล็กๆ

สรรพคุณของพริกในตำรับยาโปราณระบุไว้ว่า ดอกพริกไทย ใช้แก้ตาแดงเนื่องจากความดันโลหิตสูง เมล็ดพริกไทยใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร ย่อยพิษตกค้างที่ไม่สามารถย่อยได้ ใช้ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้มุตกิด (ระดูขาว) แก้ลมอัมพฤกษ์ นอกจากนี้ ในเมล็ดพริกไทยยังมีสารสำคัญซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันมะเร็ง และมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ใบพริกไทยใช้แก้ลม จุกเสียด แก้ปวดมวนท้อง เถาใช้แก้อุระเสมหะ แก้ลมพรรดึก แก้อติสาร (โรคลงแดง) รากพริกไทย ใช้ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน และช่วยย่อยอาหาร ที่สำคัญยังเป็นหนึ่งในยาที่มักนิยมนำไปเข้าเครื่องยาอายุวัฒนะด้วย
     พริกไทยที่เราใช้ประโยชน์ในปัจจุบันมีอยู่ 3 แบบ คือ พริกไทยสด พริกไทยดำ และพริกไทยล่อน เคยมีคนจำนวนมากสับสนระหว่างพริกไทยดำและพริกไทยล่อน คิดว่าเป็นชนิดหรือสายพันธุ์ของพริกไทย เพราะในตำรายาบางตำรับจะใช้พริกไทยล่อน บางตำรับจะใช้พริกไทยดำ ซึ่งทั้งสองชนิดก็คือพริกไทยสดที่นำมาแปรรูปเพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ พริกไทยดำคือการนำเอาพริกไทยสดมาตากให้แห้งให้ผิวเหี่ยวย่นจนกลายเป็นสีดำ ส่วนพริกไทยล่อนทำโดยเก็บช่อพริกไทยแก่มาตากแดดเล็กน้อย แล้วนำไปนวดเพื่อแยกเมล็ดออก ใส่กระสอบแช่น้ำ 7-14 วัน แล้วจึงนำเข้าเครื่องนวด ขัดผิวให้หลุดเหลือแต่เมล็ดใน แต่สารสำคัญต่างๆ ของพริกไทยจะอยู่ในพริกไทยดำมากกว่าพริกไทยล่อน

     ตำรับยาโบราณที่ใช้พริกไทยเข้ายามีหลายตำรับ อาทิ ยาแก้ผอมแห้งแรงน้อย เอาข้าวสารคั่วเกลือทะเล พริกไทยล่อน เอาอย่างละเท่าๆ กันบดผงปั้นกับน้ำผึ้ง เม็ดเท่าเมล็ดพุทรา กินครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหารเช้า-เย็น และก่อนนอน แก้ผอมแห้งแรงน้อย สุขภาพอนามัยดี ภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน แก้ไข้เรื้อรัง มีไข้ต่างๆ ตลอดเวลาไม่ยอมหาย ให้เอาใบกะเพราแห้ง ใบบัวบกแห้ง พริกไทยดำ สิ่งละเท่าๆ กัน บดเป็นผงปั้นเป็นเม็ดเท่าไข่จิ้งจก กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น กระดูกหัก ใช้เปลือกต้นของสบู่ขาว ร่วมกับต้นส้มกบ และพริกไทย 5 เม็ด ตำผสมเหล้าขาวแล้วผัดให้อุ่น พอกให้หนา แล้วใช้ไม้พันผ้าให้แน่น ยากินให้ผิวสวยเสมอ เอาขมิ้นอ้อย กระชาย แห้วหมู พริกไทย ทุบๆ แล้วดองด้วยน้ำผึ้ง กินก่อนนอนทุกวัน ผิวท่านจะสวยเสมอ
     ตะขาบกัด ใช้ผงพริกไทยโรยบริเวณแผล ปวดฟัน ใช้พริกไทย พริกหาง บดเป็นผง ผสมยาขี้ผึ้งปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ใช้อุดฟันที่ปวด ท้องอืดอาหารไม่ย่อย ใช้พริกไทยแช่ในน้ำส้มสายชูทิ้งไว้นานสัก 2 ชั่วโมง นำไปตากแห้งแล้วนำกลับมาบดเป็นผงให้ละเอียด ผสมกับน้ำส้มสายชูที่ใช้แช่นั้น แล้วปั้นเป็นเม็ดใช้รักษา รักษาอาการเมื่อยขบ เป็นเหน็บชาง่ายในฤดูหนาวหรือฤดูฝน โดยใช้ไข่ไก่ น้ำกะทิ และพริกไทย ตีให้เข้ากันแล้วตุ๋นให้สุก และนำพริกไทยล่อนเข้าเครื่องยากับเปลือกไข่ไก่ นำไปผิงไฟให้เหลืองแล้วบดเป็นผงละเอียดผสมกับน้ำต้มสุก ใช้รักษาอาการชักจากการขาดแคลเซียม
     ในยุคที่น้ำมันหอมระเหยเข้ามามีบทบาทในวงการสุขภาพมาก ยังพบว่าพริกไทยได้ถูกนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย หรือที่เรียกว่า black pepper oil ที่สกัดจากพริกไทยดำ มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวด ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการกล้ามเนื้อกระตุก กระตุ้นกำหนัด ต้านพิษ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย ลดไข้ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท รักษาโรคกระเพาะ
     ปัจจุบันมีงานศึกษาวิจัยในการใช้ประโยชน์อื่นๆ ของพริกไทยอย่างน่าสนใจ โดยส่วนหนึ่งของงานวิจัยก็เป็นการยืนยันสรรพคุณของการใช้มาตั้งแต่โบราณ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดทางนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น งานวิจัยที่พบว่าพริกไทยมีสารต้านการก่อมะเร็ง ช่วยเร่งการทำงานของตับให้ทำลายสารพิษได้มากขึ้น ใช้น้ำมันหอมระเหยรักษาผู้ติดบุหรี่ พบว่าช่วยลดความอยากและความหงุดหงิดลงได้ ที่น่าสนใจเป็นการวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พบว่าป้องกันโรคความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา และที่กำลังเป็นเงินเป็นทอง สร้างรายได้ให้กับผู้ค้าสมุนไพรไม่น้อยตอนนี้ คือการนำสารสกัดพริกไทยไปผลิตเป็นครีมหรือเจลลดความอ้วน ซึ่งเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ง่าย และอาจมีการนำไปปรุงแต่งเข้าเครื่องยากับสมุนไพรอื่นๆ ที่มีสรรพคุณคล้ายคลึงกันเพื่อเสริมฤทธิ์การลดไขมัน ก็นับว่าเป็นก้าวย่างของการแปรรูปผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าอย่างน่าสนใจ.
  ท่านผู้อ่านคงเคยเห็น พริกไทยดำ ( Black peper ) และ พริกไทยขาว ( White peper ) ซึ่งทั้งสองอย่าง ได้จากผลพริกไทยที่วิธีเก็บ และเตรียมต่างกัน นั่นคือ พริกไทยดำ ได้จากการเก็บผลพริกไทยที่เป็นผลโตเต็มที่ แก่แต่ยังไม่สุก เมื่อเก็บแล้วนำไปทำให้แห้ง โดยการตากแดดประมาณ 5-6 วัน ส่วนพริกไทยขาว ( White pepper ) นั้นได้จากการเก็บผลพริกไทยที่แก่จัด และผลเริ่มสุกเป็นสีแดง จากนั้นนำไปแช่น้ำ เพื่อลอกเอาเปลือกชั้นนอกออกไป โดยจะแช่ในน้ำไหล หรือน้ำนิ่งก็ได้ แต่พริกไทยที่แช่น้ำไหล จะมีสีขาวกว่าพริกไทย ที่แช่ในน้ำนิ่ง โดยจะใช้เวลาในการแช่ประมาณ 7-14 วัน หลังจากนั้น นำพริกไทยที่แช่น้ำมานวด เพื่อลอกเปลือกออก ล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปตากแดดทันที โดยใช้เวลาในการตากแดดประมาณ 4-5 วัน ก็จะแห้งสนิท ซึ่งสามารถทดสอบโดย ใช้ฟันขบเมล็ดพริกไทย ถ้าแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แสดงว่าแห้งสนิทดี แต่ถ้าแตกออกเป็นสองซีก แสดงว่ายังไม่แห้งสนิท หรือทดสอบโดยใช้มือกอบเมล็ดพริกไทย แล้วค่อยๆกางนิ้วออก ให้เมล็ดพริกไทยลอดระหว่างนิ้ว ถ้าเมล็ดลอดออกได้ง่าย ไม่ฝืด และเมล็ดไม่เกาะติดกัน แสดงว่าเมล็ดแห้งสนิท โดยทั่วไทยพริกไทยขาว จะมีราคาแพงกว่า พริกไทยดำ เนื่องจากมีขั้นตอนในการผลิต และค่าใช้จ่ายสูงกว่าการผลิตพริกไทยดำ และประชาชนยังนิยมบริโภคพริกไทยขาว มากกว่าพริกไทยดำ แต่ในแง่สรรพคุณ ทางยาสมุนไพรนั้น พริกไทยดำจะมีตัวยามากกว่า พริกไทยขาว

พริกไทยนอกจากเป็นตัวชูรสของอาหารชนิดต่างๆ ซึ่งทำให้อาหารอร่อย และถูกปากคนไทยแล้ว ผู้บริโภคจะได้ผลพลอยได้ จากกว่าที่พริกไทยเป็นยาสมุนไพรด้วย นั่นคือลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ( ช่วยขับลม ) โดยส่วนที่นำมาทำเป็นยา คือ ผลแก่จัด แต่ยังไม่สุก ( พริกไทยดำ ) มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่า พริกไทยดำจะมีน้ำมันหอมระเหยมาก ประมาณร้อยละ 2-4 และมีสารแอลคาลอยด์เป็นสารสำคัญ เช่น Piperine ซึ่งเป็นตัวทำให้มีรสเผ็ด นอกจากนี้ยังมี Piperidine, Piperitine, Peperyline, Piperolein A และ B ส่วนพริกไทยขาว ( พริกไทยล่อน ) จะมีน้ำมันหอมระเหยต่ำกว่าพริกไทยดำ ดังนั้นตัวที่ทำให้ช่วยขับลมก็คือ พวกน้ำมันหอมระเหยนั่นเอง


วิธีเตรียมพริกไทยเพื่อทำเป็นยาสมุนไพรก็ไม่ยาก ให้นำผลแก่จัดไปตากแดดให้แห้ง ในแต่ละครั้งจะรับประทานครั้งละ 15-20 ผล ( ผลแก่จัดตากแห้ง ) ซึ่งเมื่อบดออกมาแล้วจะหนักประมาณ 0.5-1 กรัม เมื่อบดเป็นผงแล้วก็นำไปชงกับน้ำอุ่นรับประทาน หรือทำเป็นลูกกลอนก็ได้ แต่บางท่านก็รับประทานผลแก่ตากแห้ง 15-20 ผล โดยไม่บดเลยก็มี ซึ่งก็ได้เหมือนกัน เนืองจากพริกไทยจัดเป็นอาหารและยาด้วย ดังนั้นผลข้างเคียงแทบจะไม่พบเลย แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้กับหญิงมีครรภ์ เนื่องจากพริกไทยมีรสเผ็ดและจัดเป็นยาร้อน
การขยายพันธุ์ทำโดยวิธีปักชำ โดยตัดส่วนลำต้นที่ไม่แก่จัดยาวประมาณ 5-7 ข้อ ปักชำไว้จนรากงอกออกมาแข็งแรง แล้วจึงนำไปปลูก โดยต้องทำค้างไว้เกาะด้วย พริกไทยสามารถขึ้นได้ ในดินทั่วๆไปที่มีการระบายน้ำได้ดี และชอบอากาศที่อบอุ่นและชื้น ซึ่งอากาศแบบนี้จะอยู่แถวจันทบุรี ระยอง และตราด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น